Tuesday, July 21, 2015

 บทที่ 1 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม

พระธรรมนูญศาลยุติธรรม  มีผลบังคับใช้ตามพระราชบัญญัติให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม  พ.ศ. 2543  ปัจจุบันได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรวม 3 ครั้ง [1]   มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด  4  หมวด  รวม  33  มาตรา  ได้แก่
                        หมวด 1   บททั่วไป                                                          มาตรา 1 - 14
                        หมวด 2   เขตอำนาจศาล                                                มาตรา 15 - 23
                        หมวด 3   องค์คณะผู้พิพากษา                                         มาตรา 24 - 31
                        หมวด 4   การจ่าย การโอน และการเรียกคืนสำนวนคดี         มาตรา 32 - 33
          
         1. ความหมายของพระธรรมนูญศาลยุติธรรมและประโยชน์ที่จะได้รับจากการศึกษาพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
            พระธรรมนูญศาลยุติธรรมจัดเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติ  ซึ่งมีขอบเขตหรือเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องของการจัดวางรูปองค์กรของศาล  การกำหนดอำนาจหน้าที่ของศาล, ผู้พิพากษาไว้ให้แน่นอน  ทั้งนี้  เพื่อให้ศาล, ผู้พิพากษาสามารถดำเนินกระบวนพิจารณาอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน
            พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์  กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์  ผู้ทรงได้รับการยกย่องว่าเป็นพระบิดาแห่งกฎหมายไทย  ได้ทรงให้ความหมายของพระธรรมนูญศาลยุติธรรมเอาไว้ว่า  เป็นกฎหมายที่กำหนดและวางระเบียบของศาลยุติธรรม  เช่น  ศาลมีกี่ชั้น  ศาลอะไรบ้าง  อำนาจของศาล, ผู้พิพากษา  การกำหนดความสัมพันธ์ของอำนาจตุลาการกับอำนาจอื่น ๆ
          ประโยชน์ที่จะได้รับจากการศึกษาพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
          พระธรรมนูญศาลยุติธรรม  จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่มีอรรถคดีทั้งหลายที่จะได้ทราบว่าศาลนั้น ๆ มีอำนาจรับฟ้องและพิจารณาพิพากษาคดีอะไร  จะได้ดำเนินการได้อย่างถูกต้อง  ช่วยให้ไม่เกิดกรณีการฟ้องร้องผิดศาล   ส่วนผู้พิพากษาซึ่งดำเนินกระบวนพิจารณาก็จะได้ทราบถึงอำนาจของศาลที่ตนประจำอยู่  จะได้ดำเนินการพิจารณาพิพากษาคดีให้อยู่แต่ภายในเขตอำนาจศาลและอำนาจของผู้พิพากษาตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้  ไม่ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยปราศจากอำนาจหรือเกินขอบอำนาจที่กฎหมายกำหนด  ซึ่งศาลที่สูงกว่าอาจยกเสียได้[2]

        2. ความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายและขอบเขตการใช้บังคับ
          พระธรรมนูญศาลยุติธรรม  พ.ศ. 2543  จะมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับกฎหมายอื่น เช่น  ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง, ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา,  พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543,  พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543,  พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การแต่งตั้งและการดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส พ.ศ. 2542  เป็นต้น   ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษากฎหมายต่างๆเหล่านี้ด้วย
          สำหรับขอบเขตการใช้บังคับนั้น  จะนำไปใช้บังคับกับศาลยุติธรรมต่าง ๆ  ตามที่กำหนดไว้ในพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  ไม่ว่าจะเป็นศาลชั้นต้น  ศาลอุทธรณ์  หรือศาลฎีกา  รวมตลอดถึงศาลยุติธรรมอื่นซึ่งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเหล่านั้น ได้บัญญัติกำหนดให้นำบทบัญญัติของพระธรรมนูญศาลยุติธรรมไปใช้บังคับโดยอนุโลม[3]   เช่น  ศาลภาษีอากร, ศาลล้มละลาย  ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ,  ศาลแรงงาน,  ศาลเยาวชนและครอบครัว
           3.  ลำดับชั้นของศาลยุติธรรม
พระธรรมนูญศาลยุติธรรมฉบับปัจจุบัน  ได้บัญญัติกำหนดให้ศาลยุติธรรมมีด้วยกันทั้งหมด  3  ชั้น  ได้แก่  ศาลชั้นต้น  ศาลอุทธรณ์  และศาลฎีกา  โดยมีข้อยกเว้นในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น[4]
(1) ศาลชั้นต้น  เป็นศาลที่มีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีในชั้นต้น  ซึ่งตาม  บทบัญญัติของพระธรรมนูญศาลยุติธรรมได้กำหนดไว้  2 ส่วน[5]  คือ
              1) ส่วนที่ 1  ศาลยุติธรรมที่พระธรรมนูญศาลยุติธรรมฉบับปัจจุบัน  ได้บัญญัติกำหนดไว้แล้วให้เป็นศาลชั้นต้น  ได้แก่
               -     ศาลแพ่ง  ศาลแพ่งกรุงเทพใต้  ศาลแพ่งธนบุรี
               -     ศาลอาญา  ศาลอาญากรุงเทพใต้  ศาลอาญาธนบุรี
               -     ศาลจังหวัด
               -     ศาลแขวง
               2)   ส่วนที่ 2  ศาลยุติธรรมอื่นที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกำหนดให้เป็นศาลชั้นต้น  ซึ่งได้แก่
               -     ศาลเยาวชนและครอบครัว[6]
               -     ศาลแรงงาน
               -     ศาลภาษีอากร[7]
               -     ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ[8]
               -     ศาลล้มละลาย[9]
               ศาลดังกล่าวมานี้เป็นศาลชำนัญพิเศษ  เพราะผู้พิพากษาของศาลต่าง ๆ  ดังกล่าว  จะมีความชำนาญในการพิจารณาพิพากษาคดี  ที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลนั้น ๆ  เป็นพิเศษมากกว่าผู้พิพากษาของศาลอื่น ๆ  โดยทั่วไป    เว้นแต่ศาลเยาวชนและครอบครัว จะเป็นศาลพิเศษ  มิใช่ศาลชำนัญพิเศษ  เพราะผู้พิพากษาในศาลนี้มิได้มีความชำนาญในการพิจารณาพิพากษาคดีที่อยู่ในอำนาจเป็นพิเศษมากกว่าศาลอื่น ๆ  เพียงแต่มีวิธีพิจารณาคดีเป็นพิเศษเท่านั้น[10]
(2) ศาลอุทธรณ์  เป็นศาลสูงชั้นกลาง  ซึ่งได้แก่ [11]
      1)      ศาลอุทธรณ์  มีที่ตั้งอยู่  ณ  กรุงเทพมหานคร
      2)      ศาลอุทธรณ์ภาค  ปัจจุบันมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 9 ศาล  ได้แก่
               1)   ศาลอุทธรณ์ภาค  1  มีที่ตั้งอยู่  ณ  กรุงเทพมหานคร
               2)   ศาลอุทธรณ์ภาค  2  มีที่ตั้งอยู่  ณ  จังหวัดระยอง
               3)   ศาลอุทธรณ์ภาค  3  มีที่ตั้งอยู่  ณ  กรุงเทพมหานคร [12]
               4)   ศาลอุทธรณ์ภาค  4  มีที่ตั้งอยู่  ณ  กรุงเทพมหานคร
               5)   ศาลอุทธรณ์ภาค  5  มีที่ตั้งอยู่  ณ  จังหวัดเชียงใหม่
               6)   ศาลอุทธรณ์ภาค  6  มีที่ตั้งอยู่  ณ  กรุงเทพมหานคร
               7)   ศาลอุทธรณ์ภาค  7  มีที่ตั้งอยู่  ณ  กรุงเทพมหานคร
               8)   ศาลอุทธรณ์ภาค  8  มีที่ตั้งอยู่  ณ  กรุงเทพมหานคร
               9)   ศาลอุทธรณ์ภาค  9  มีที่ตั้งอยู่  ณ  กรุงเทพมหานคร [13]                                 
(3) ศาลฎีกา  เป็นศาลสูงสุดของศาลยุติธรรม  ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร  มีเพียงศาลเดียว  จึงไม่มีปัญหาในเรื่องของเขตอำนาจศาล
          
            4.  การแบ่งส่วนราชการเป็นแผนกหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น
            ศาลยุติธรรมในแต่ละลำดับชั้น  ไม่ว่าจะเป็นศาลชั้นต้น  ศาลอุทธรณ์  หรือศาลฎีกา  อาจมีการแบ่งส่วนราชการภายในของแต่ละศาลออกเป็นแผนก  หรือหน่วยงานที่เรียกชื่อ  อย่างอื่น และจะให้มีอำนาจในคดีประเภทใดหรือคดีในท้องที่ใดท้องที่หนึ่ง ซึ่งอยู่ภายในเขตอำนาจของศาลนั้นก็สามารถดำเนินการได้  โดยการออกเป็นประกาศของคณะกรรมการ บริหารศาลยุติธรรม และจะต้องส่งไปลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วย[14]    เช่น การจัดตั้งแผนกคดีผู้บริโภคในศาลอุทธรณ์ภาค [15]   การจัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค การจัดตั้งแผนกคดียาเสพติดและแผนกคดีผู้บริโภคในศาลอุทธรณ์[16]  การจัดตั้งแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกา[17]   การจัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกา[18]  เป็นต้น
            นอกจากการแบ่งส่วนราชการภายในออกเป็นแผนก  หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น ตามหลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ในพระธรรมนูญศาลยุติธรรมแล้ว  ศาลยุติธรรมยังอาจมีการแบ่งส่วนราชการภายในออกเป็นแผนกหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น  ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายอื่นอีกด้วย  เช่น  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ. 2550  มาตรา 219 วรรคสี่ ได้บัญญัติกำหนดให้มีแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองขึ้นในศาลฎีกา หรือตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 25  ได้บัญญัติกำหนดให้จัดตั้งแผนกคดีล้มละลายขึ้นในศาลฎีกา เพื่อพิจารณาคดีล้มละลายที่อุทธรณ์ขึ้นมา  หรือพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534  มาตรา  8  วรรคสอง  ได้บัญญัติกำหนดให้จัดตั้งแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวขึ้นในศาลจังหวัดทุกศาล  เป็นต้น

         5.  คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม  (ก.บ.ศ.)
            พระธรรมนูญศาลยุติธรรมฉบับปัจจุบัน  ได้กล่าวถึงคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม  แต่มิได้บัญญัติรายละเอียดเกี่ยวกับคณะกรรมการดังกล่าวไว้  ซึ่งรายละเอียดของคณะกรรมการฯ  จะมีบัญญัติอยู่ในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม  พ.ศ. 2543  โดยมีรายละเอียดพอสังเขป  ดังนี้
(1) องค์ประกอบ      
ประธานศาลฎีกา                        เป็นประธาน
กรรมการบริหารศาลยุติธรรม         ชั้นศาลละ  4  คน  (รวม  12  คน)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ                 ไม่น้อยกว่า  2  คน  แต่ไม่เกิน  4  คน[19]
(2) อำนาจหน้าที่
      คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม  จะมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการบริหารราชการศาลยุติธรรม  เฉพาะในส่วนการบริหารงานบุคคล  งานธุรการ  ให้เป็นไปตามระเบียบ  แบบแผน  ประเพณีปฏิบัติของราชการศาลยุติธรรม  และมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนด  เช่น  ออกระเบียบหรือประกาศ  หรือมีมติเพื่อการบริหารราชการศาลยุติธรรม  ในส่วนที่เกี่ยวกับงานบริหารราชการและงานธุรการของสำนักงานศาลยุติธรรม  ให้เป็นไปตามนโยบายของประธานศาลฎีกา  รวมทั้งมีอำนาจยับยั้งการบริหารราชการของศาลยุติธรรม  หรือสำนักงานศาลยุติธรรมที่ไม่เป็นไปตามระเบียบ  ประกาศหรือมตินั้นด้วย  เป็นต้น[20]

           6. อำนาจหน้าที่ของประธานศาลฎีกา
                  พระธรรมนูญศาลยุติธรรมฉบับปัจจุบัน  ได้บัญญัติกำหนดให้ประธานศาลฎีกา  มี
(1) หน้าที่  วางระเบียบราชการฝ่ายตุลาการของศาลยุติธรรม  เพื่อให้กิจการของศาลยุติธรรมดำเนินไปโดยเรียบร้อยและเป็นระเบียบเดียวกัน เช่น ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยแนวปฏิบัติในการออกหมายจับและหมายค้นในคดีอาญา[21]   ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการปล่อยชั่วคราว[22]  เป็นต้น  และมี
(2) อำนาจ   ให้คำแนะนำแก่ผู้พิพากษาในการปฏิบัติตามระเบียบวิธีการต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้นโดยกฎหมาย หรือโดยประการอื่นให้เป็นไปโดยถูกต้อง[23]      ทั้งนี้เนื่องจากการพิจารณาพิพากษาคดีอรรถคดีของผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม เป็นงานที่จะต้องใช้ความละเอียดรอบคอบและการกลั่นกรองจากผู้พิพากษาที่มีประสบการณ์  ดังนั้น พระธรรมนูญศาลยุติธรรม  จึงได้บัญญัติให้ประธานศาลฎีกามีอำนาจสามารถให้คำแนะนำแก่ข้าราชการ     ตุลาการในศาลยุติธรรมได้
สำหรับในเรื่องนี้ขอให้ทำความเข้าใจไว้ด้วยว่า  เป็นเพียงอำนาจและหน้าที่บางประการของประธานศาลฎีกา ตามที่บัญญัติกำหนดไว้ในพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  ประธานศาลฎีกาหาได้มีอำนาจหน้าที่เพียงเท่าที่กำหนดไว้ในพระธรรมนูญศาลยุติธรรมแต่อย่างใดไม่  ประธานศาลฎีกายังอาจมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติกำหนดไว้ในกฎหมายฉบับอื่น ๆ  อีกด้วย  เช่น  อำนาจการสั่งบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา,  อำนาจการสั่งให้ข้าราชการตุลาการไปช่วยทำงานชั่วคราวในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่ราชการศาลยุติธรรมฯ  ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม  พ.ศ. 2543[24]  เป็นต้น

            7. สำนักงานศาลยุติธรรม
                   เป็นส่วนราชการที่เป็นหน่วยงานอิสระ  มีฐานะเป็นนิติบุคคล  มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการของศาลยุติธรรม  งานส่งเสริมงานตุลาการและงานวิชาการ  เพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้แก่ศาลยุติธรรม  รวมทั้งเสริมสร้างให้การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นไปโดยสะดวก  รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ[25]   ซึ่งแต่เดิมงานดังกล่าวจะอยู่ที่กระทรวงยุติธรรม
            สำนักงานศาลยุติธรรม  มีเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมซึ่งเป็นข้าราชการศาลยุติธรรม  และเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการในสำนักงานศาลยุติธรรม  มีหน้าที่ควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งราชการของสำนักงานศาลยุติธรรม  ให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ  โดยขึ้นตรงต่อประธานศาลฎีกา[26]     การบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ประธานศาลฎีกาเป็นผู้ดำเนินการเสนอรายชื่อโดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.)  เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้วประธานศาลฎีกาจะเป็นผู้มีอำนาจในการสั่งบรรจุและดำเนินการเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป โดยเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมจะมีวาระในการดำรงตำแหน่ง 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง  เว้นแต่ในกรณีที่ประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ได้มีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งก่อนครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว[27]

         8. การจัดตั้ง การยุบเลิก การเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจศาล
            พระธรรมนูญศาลยุติธรรมฉบับปัจจุบัน  ได้บัญญัติกำหนดเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินการจัดตั้งศาล  การยุบเลิกศาล  การเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจศาล  โดยให้เป็นอำนาจของเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม  ในการเสนอความเห็นเรื่องดังกล่าวผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม  (ก.บ.ศ.)  ไปยังคณะรัฐมนตรี  ทั้งนี้การดำเนินการในเรื่องดังกล่าวจะต้องคำนึงถึงจำนวน  สภาพ  สถานที่ตั้งและเขตอำนาจศาลตามที่จำเป็น   เพื่อให้การอำนวยความยุติธรรมต่อประชาชน  เป็นไปด้วยความเรียบร้อยตลอดราชอาณาจักร[28]
            สำหรับในเรื่องการจัดตั้งศาล   รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550  ได้บัญญัติกำหนดให้ตั้งศาลขึ้นได้ก็แต่โดยการตราเป็นพระราชบัญญัติ[29]   เช่น  การจัดตั้งศาลจังหวัดที่อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี  ดำเนินการโดยตราเป็นพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลจังหวัดที่อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี พ.ศ. 2550,  การจัดตั้งศาลจังหวัดที่อำเภอ พิมาย จังหวัดนครราชสีมา  ดำเนินการโดยตราเป็นพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลจังหวัดที่   อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2550,  การจัดตั้งศาลจังหวัดที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  ดำเนินการโดยตราเป็นพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลจังหวัดที่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ. 2550  เป็นต้น  
ในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจศาล เดิมจะดำเนินการในลักษณะหรือรูปแบบเดียวกันกับการจัดตั้งศาล คือ  ดำเนินการโดยตราเป็นพระราชบัญญัติ  เช่น  พระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจศาลจังหวัดปากพนัง  พ.ศ. 2544,  พระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจศาลแพ่งกรุงเทพใต้  ศาลอาญากรุงเทพใต้  ศาลแพ่งธนบุรี  และศาลอาญาธนบุรี  พ.ศ.2549 เป็นต้น   แต่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจศาลโดยการตราเป็นพระราชบัญญัติ จะต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการนาน  ทำให้ไม่ทันกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่ทางการปกครอง  และไม่เอื้อประโยชน์ในการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน  ดังนั้น  ในปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจของศาลชั้นต้น  จึงได้เปลี่ยนมาเป็นดำเนินการโดยตราเป็น     พระราชกฤษฎีกา[30]   ซึ่งจะช่วยทำให้การดำเนินการเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจของศาลชั้นต้น สามารถกระทำได้อย่างคล่องตัวยิ่งขึ้น เช่น  พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจศาลแขวงสงขลา พ.ศ. 2550,  พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจศาลแขวงลพบุรี พ.ศ. 2549,  พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจศาลแขวงอุบลราชธานี  พ.ศ. 2547[31]  เป็นต้น
            นอกจากนั้นก็ยังมีในเรื่องของการยกฐานะศาล   ซึ่งจะดำเนินการโดยการตราเป็นพระราชบัญญัติเช่นเดียวกัน  ตัวอย่างเช่น  พระราชบัญญัติยกฐานะศาลแขวงดุสิต ศาลแขวงตลิ่งชัน ศาลแขวงปทุมวันและศาลแขวงพระโขนงเป็นศาลจังหวัด พ.ศ. 2549,  พระราชบัญญัติ ยกฐานะศาลแขวงแม่สะเรียง ศาลแขวงแม่สอด ศาลแขวงตะกั่วป่า และศาลแขวงหลังสวน เป็นศาลจังหวัด (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2502,  พระราชบัญญัติยกฐานะศาลแขวงมีนบุรีเป็นศาลจังหวัด  พ.ศ. 2480  เป็นต้น             

              9. การกำหนดจำนวนผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม
         พระธรรมนูญศาลยุติธรรมฉบับปัจจุบัน  ได้กำหนดให้คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม  มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดจำนวนผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม  ให้เหมาะสมตามความจำเป็นแก่ราชการ[32]  ไม่ว่าจะเป็นศาลชั้นต้น  ศาลอุทธรณ์  หรือศาลฎีกา  ทั้งนี้เนื่องจากท้องที่หรือจังหวัดต่าง ๆ  ที่แต่ละศาลตั้งอยู่และรับผิดชอบจะมีอาณาเขตที่ไม่เท่ากัน  ตลอดจนความหนาแน่นของจำนวนประชากรก็แตกต่างกัน  กรณีดังกล่าวย่อมมีผลต่อจำนวนของคดีที่แต่ละศาลจะต้องรับผิดชอบในการพิจารณาพิพากษา  ซึ่งคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมจะเป็นผู้ที่กำหนดจำนวนของผู้พิพากษาที่จะพึงมีในแต่ละศาล  ให้เพียงพอและเหมาะสมกับสัดส่วนปริมาณของคดีที่แต่ละศาลรับผิดชอบ[33]
เช่น ประกาศคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม  เรื่องกำหนดจำนวนผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม  ลงวันที่  29  มีนาคม  2544  กำหนดจำนวนผู้พิพากษาไว้  ดังนี้
            ผู้พิพากษาศาลฎีกา                                             จำนวน  123  อัตรา 
            ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์                                        จำนวน  112  อัตรา 
            ผู้พิพากษาศาลจังหวัดนครปฐม                            จำนวน    74  อัตรา
            ผู้พิพากษาศาลจังหวัดนครปฐมแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว จำนวน      5  อัตรา
            ผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดราชบุรี จำนวน      7  อัตรา

                           
1. บทบัญญัติในพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มีทั้งสิ้น 33 มาตรา แบ่งออกเป็น 4 หมวด ดังนี้
    หมวด 1 บททั่วไป มี 14 มาตรา
    หมวด 2 เขตอำนาจศาล มี 9 มาตรา
    หมวด 3 องค์คณะผู้พิพากษา มี 8 มาตรา
    หมวด 4 การจ่าย การโอน และการเรียกคืนสำนวนคดี มี 2 มาตรา
2. ในเรื่อง “บททั่วไป” ได้กล่าวถึง ศาลยุติธรรม มี 3 ชั้น (ม.1) คือ
   (1) ศาลชั้นต้น (ม.2) ได้แก่
   - ศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี
   - ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี
  - ศาลจังหวัด (มีทุกจังหวัด บางจังหวัดอาจมี 2 ศาล)
  - ศาลแขวง (จัดตั้งขึ้นตาม พรบ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาในศาลแขวง พ.ศ. 2499)
   - ศาลยุติธรรมอื่นที่ พรบ.จัดตั้งศาลนั้นกำหนดให้เป็นศาลชั้นต้น
   (2) ศาลอุทธรณ์ ( ม.3) ได้แก่
   - ศาลอุทธรณ์
   - ศาลอุทธรณ์ภาค ซึ่งมีทั้งสิ้น 9 ภาค
   (3) ศาลฎีกา มีศาลเดียว ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร
3. การแบ่งส่วนราชการภายในของศาลยุติธรรม และการกำหนดเขตอำนาจของแต่ละศาลนั้น ให้เป็นอำนาจของ “คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.)” โดยต้องออกเป็นประกาศคณะกรรมการฯ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ได้ต่อเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
4. ประธานศาลฎีกา มีอำนาจหน้าที่ ( ม.5) ดังนี้
(1) วางระเบียบราชการฝ่ายตุลาการของศาลยุติธรรม
(2) ดูแลให้ผู้พิพากษาปฏิบัติตามระเบียบวิธีการต่างๆ ที่กำหนดขึ้นให้เป็นไปโดยถูกต้อง
5. ให้จัดตั้งสำนักงานศาลยุติธรรมขึ้นในศาลยุติธรรม โดยมีเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้บังคับบัญชา (ม.6) มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
(1) บริหารงานธุรการในศาลยุติธรรม
(2) ดำเนินการเกี่ยวการจัดตั้ง การยุบเลิก หรือการเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจศาล เพื่อขอความ
เห็นชอบต่อ ก.บ.ศ. ก่อนเสนอขออนุมัติต่อ ครม.
6. กำหนดให้มีตำแหน่งและจำนวนตำแหน่งในศาลยุติธรรม ( ม.8) ดังต่อไปนี้
(1) ศาลฎีกา
- ประธานศาลฎีกา 1 คน
- รองประธานศาลฎีกา มากกว่า 1 คน แต่ไม่เกิน 6 คน
(2) ศาลอุทธรณ์
- ประธานศาลอุทธรณ์ 1 คน
- ประธานศาลอุทธรณ์ภาคๆ ละ 1 คน (ทั้งหมดมี 9 คน)
- รองประธานศาลอุทธรณ์ 1 คน
- รองประธานศาลอุทธรณ์ภาคๆ ละ 1 คน (มีทั้งหมด 9 คน)
(3) ศาลชั้นต้น
- อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ศาลละ 1 คน
- รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ศาลละมากกว่า 1 คน แต่ไม่เกิน 3 คน
ทั้งนี้ การแต่งตั้งรองประธานศาลฎีกาและรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ให้มากกว่า 1 คน แต่ไม่เกิน 6 คน (รองประธานศาลฎีกา) แต่ไม่เกิน 3 คน(รองอธิบดีฯ,รองประธานศาลอุทธรณ์,รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค)ตาม ม.8 ว.1 ตอนท้ายนั้น ต้องเป็นมติของ ก.บ.ศ. โดยความเห็นชอบของประธานศาลฎีกา
หมายเหตุ  ก.บ.ศ.หมายถึงคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม

[1] พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. 2550, พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551


[2] ชุมพล  จันทราทิพย์, พระธรรมนูญศาลยุติธรรม. พิมพ์ครั้งที่ 12. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548) หน้า 4 – 6.
[3] บุญเพราะ  แสงเทียน, พระธรรมนูญศาลยุติธรรม. (กรุงเทพฯ : บริษัท วิทยพัฒน์ จำกัด, 2544) หน้า 22.

[4] พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543  มาตรา 1

[5] พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543  มาตรา 2
[6] พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534  มาตรา 8 วรรคสี่
[7] พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528  มาตรา 12
[8] พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539  มาตรา 11
[9] พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542  มาตรา 11
[10] บุญเพราะ แสงเทียน, พระธรรมนูญศาลยุติธรรม. (กรุงเทพฯ : บริษัท วิทยพัฒน์ จำกัด, 2544), หน้า 41.
[11] พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543  มาตรา 3
[12] พระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวน ที่ตั้ง เขตศาล และวันเปิดทำการของศาลอุทธรณ์ภาค (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2543  มาตรา 3
[13] พระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวน ที่ตั้ง เขตศาล และวันเปิดทำการของศาลอุทธรณ์ภาค (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2548  มาตรา 3

[14] พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543  มาตรา 4
[15] ประกาศคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม  เรื่องการจัดตั้งแผนกในศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค (ฉบับที่ 2)  ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2550
[16] ประกาศคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม  เรื่องการจัดตั้งแผนกในศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค   ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2549
[17] ประกาศคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม  เรื่องการจัดตั้งแผนกในศาลฎีกา ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2547
[18] ประกาศคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม  เรื่องการจัดตั้งแผนกในศาลฎีกา (ฉบับที่ 2)  ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2548
[19] พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543  มาตรา 10
[20] พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543  มาตรา 17
[21] ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยแนวปฏิบัติในการออกหมายจับและหมายค้นในคดีอาญา พ.ศ.2545  ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2545
[22] ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการปล่อยชั่วคราว พ.ศ. 2548  ลงวันที่ 21
ตุลาคม 2548
[23] พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543  มาตรา 5
[24] พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543  มาตรา 14, 21
[25] พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543  มาตรา 5,6
[26] พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543  มาตรา 8
[27] พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543  มาตรา 22 (1)
[28] พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543  มาตรา 6
[29] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550  มาตรา 198
[30] พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543  มาตรา 16 วรรคหนึ่ง
[31] พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499  มาตรา 3  วรรคท้าย
   “การเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจศาลแขวง ให้ประกาศโดยพระราชกฤษฎีกา”

[32] พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543  มาตรา 7
[33] ชุมพล  จันทราทิพย์, พระธรรมนูญศาลยุติธรรม. พิมพ์ครั้งที่ 12. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548), หน้า 30.

0 comments :

Post a Comment