Tuesday, July 21, 2015

เนื่องจากสำนักงานศาลยุติธรรมได้กำหนดให้มีการเลือกคณะ กรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) วาระใหม่ โดยมีการนับคะแนนในวันที่ 22 มีนาคม 2555 ผู้เขียนจึงใคร่ขอแสดงความคิดเห็นบางประการเกี่ยวกับโครงสร้าง ก.ต.ในปัจจุบัน (ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550) โดยเปรียบเทียบกับโครงสร้าง ก.ต.เก่า (ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540)

มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้อ่านได้วิเคราะห์ว่าโครงสร้าง ก.ต.เก่า กับโครงสร้าง ก.ต.ใหม่ มีจุดดี จุดด้อย แตกต่างกันอย่างไรในเรื่อง "ที่มา" ของ ก.ต. โดยเฉพาะในแง่สัดส่วนของจำนวน ก.ต.ในแต่ละชั้นศาล และการเลือก ก.ต. โดยผู้พิพากษาในแต่ละชั้นศาล

คณะกรรมการตุลาการ (The Judiciary Commission) เรียกโดยย่อว่า "ก.ต." เป็นองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมจัดตั้งขึ้นโดย พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตุลาการ พ.ศ.2477 คณะกรรมการตุลาการหรือคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (หลังจากที่มีการแยกศาลออกจากกระทรวงยุติธรรมแล้ว) จึงเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นหลักประกันความอิสระให้แก่ผู้พิพากษาจากภาย นอกองค์กรไม่ให้ถูกครอบงำหรือแทรกแซงจากอิทธิพลของฝ่ายบริหารและการเมือง

ในอีกด้านหนึ่งก็ทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของข้าราชการ ตุลาการทุกขั้นตอนเริ่มตั้งแต่การคัดเลือก บรรจุ แต่งตั้ง ไปจนถึงการให้คุณให้โทษและการถอดถอนผู้พิพากษา ตลอดจนในการแต่งตั้งประธานศาลฎีกา ซึ่งเป็นประมุขของตุลาการศาลยุติธรรมอันเป็นตำแหน่งสูงสุด ซึ่งท่านศาสตราจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร เคยกล่าวไว้ว่า "คณะกรรมการตุลาการเป็นผู้ลิขิตชะตาชีวิตของผู้พิพากษาแต่ละนายโดยแท้"

ก่อนอื่นต้องย้อนไปถึงโครงสร้าง ก.ต.ในอดีต ก่อนรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ซึ่งส่วนใหญ่จะประกอบด้วยตุลาการระดับสูง ได้แก่ ประธานศาลฎีกา อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลฎีกา ซึ่งมีอาวุโสสูงสุด และปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็น ก.ต. โดยตำแหน่ง ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิ เลือกจากข้าราชการตุลาการ 4 คน และเลือกจากข้าราชการตุลาการผู้รับบำนาญอีก 4 คน ซึ่งต่อมาในระหว่างเดือนกันยายน 2534 ถึงเดือนตุลาคม 2535 ได้เกิดวิกฤตตุลาการขึ้นและมีการวิพากษ์วิจารณ์โครงสร้าง ก.ต.เดิมอย่างกว้างขวาง

มีผู้พิพากษาจำนวนไม่น้อยเห็นว่า วิกฤตตุลาการดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องมาจากบทบาทการบริหารงานบุคคลของกรรมการ ตุลาการบางส่วนที่มิได้เป็นไปตามระบบแบบแผนดังที่เคยกระทำมา

วิกฤตการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดความแตกแยกและมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวง ต่อหลักความเป็นอิสระของศาลยุติธรรม จึงอาจกล่าวได้ว่าสืบเนื่องมาจากโครงสร้าง ก.ต.ไม่เหมาะสมต่อสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไปจากเดิม ส่งผลให้มีกระแสปฏิรูปโครงสร้าง ก.ต.ใหม่ในช่วงเวลาต่อมา

จากสภาพปัญหาโครงสร้าง ก.ต.ดังกล่าว เมื่อศาลยุติธรรมแยกจากกระทรวงยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญ ปี 2540 จึงมีแนวความคิดเกี่ยวกับการสรรหา ก.ต. โดยกำหนดองค์ประกอบใหม่ ให้คุณสมบัติของข้าราชการตุลาการที่อาจได้รับเลือกเป็นกรรมการตุลาการศาล ยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละชั้นศาล ให้มีประสบการณ์อยู่ในชั้นศาลนั้นตามสมควร เพื่อให้มีลักษณะของความเป็นผู้แทนในแต่ละชั้นศาลนั้นอย่างแท้จริง สำหรับกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิให้มาจากการสรรหาของวุฒิสภา เพื่อเป็นตัวแทนฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ดังนั้น จึงมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ก.ต.ไว้ในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ด้วย โดยกำหนดคุณสมบัติของข้าราชการตุลาการที่อาจได้รับเลือกเป็นกรรมการตุลาการ ศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ

จากเดิมซึ่งเป็นการแต่งตั้งจำนวนหนึ่งในสามและจากการเลือกอีกสองใน สามหรือในอัตราส่วน 4 ต่อ 8 คน มาเป็นการเลือกจากผู้พิพากษาในแต่ละชั้นศาลเป็นส่วนใหญ่ เป็นการเพิ่มการมีส่วนร่วม โดยให้มีตัวแทนจากคณะผู้พิพากษาในศาลแต่ละชั้นเป็นกรรมการ ไม่ใช่เฉพาะผู้พิพากษาระดับสูงของศาลยุติธรรมเท่านั้น เพื่อว่าในการพิจารณาแต่งตั้ง โยกย้าย กรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับ ผู้พิพากษาแต่ละคนในแต่ละชั้นศาล

แสดงว่ามีตัวแทนของผู้พิพากษาในระดับล่างเข้าไปเป็นกรรมการตุลาการ ศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิด้วย เป็นการลดช่องว่างและสร้างความเป็นธรรมในการบริหารงานบุคคลในองค์กรมากยิ่ง ขึ้น

นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส (Transparency) ในตัวองค์กร จึงกำหนดให้บุคคลภายนอกเข้ามาเป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ อีกส่วนหนึ่งด้วยนับเป็นนวัตกรรมใหม่อันเป็นการสร้างจุดเชื่อมโยงระหว่าง องค์กรตุลาการกับประชาชนเพื่อให้มีความสมดุลอย่างเหมาะสม

หลังจากบังคับใช้พระราชบัญญัติข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 ทำให้โครงสร้าง ก.ต. ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 36 มีจำนวน 15 คน มาจากการแต่งตั้ง 1 คน ซึ่งได้แก่ตำแหน่งประธานศาลฎีกา มาจากการเลือกของผู้พิพากษาในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ศาลละ 4 คน และมาจากการสรรหาของวุฒิสภาเป็นผู้คัดเลือก 2 คน รวมเป็น 15 คน

ต่อมาหลังจากที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ตามมาตรา 221 กำหนดให้คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ประกอบด้วย

(1) ประธานศาลฎีกาเป็นประธานกรรมการ

(2) กรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ 12 คน ซึ่งข้าราชการตุลาการ เว้นแต่ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยพิพากษาเป็นผู้เลือกจากข้าราชการตุลาการในแต่ ละชั้นศาล ดังนี้
ก. ศาลฎีกา เลือกจากข้าราชการตุลาการที่ดำรงตำแหน่งในศาลฎีกาในตำแหน่งที่ไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา จำนวน 6 คน
ข. ศาลอุทธรณ์ เลือกจากข้าราชการตุลาการที่ดำรงตำแหน่งในศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาคใน ตำแหน่งที่ไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์หรือผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค จำนวน 4 คน
ค. ศาลชั้นต้น เลือกจากข้าราชการตุลาการที่ดำรงตำแหน่งในศาลชั้นต้นในตำแหน่งที่ไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าศาล จำนวน 2 คน

(3) กรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน ซึ่งวุฒิสภาเลือกจากบุคคลที่ไม่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการฝ่ายตุลาการศาล ยุติธรรม และมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย

จะเห็นได้ว่า ในส่วนของศาลชั้นต้นนั้น เมื่อพิจารณาจำนวน ก.ต.ศาลชั้นต้นกับผู้พิพากษาศาลชั้นต้นทั่วประเทศแล้ว คำถามที่ตามมาคือ ที่มาของโครงสร้าง ก.ต. เหมาะสมดีแล้วหรือไม่

โดยเฉพาะสัดส่วนของ ก.ต.ที่เปลี่ยนแปลงในศาลชั้นต้นที่ลดลงจาก 4 คน เหลือเพียง 2 คนนั้น ส่งผลอย่างไรหรือไม่ในการบริหารงานบุคคล รวมทั้งการเลือก ก.ต. เฉพาะแต่ในชั้นศาลของตนดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จะเหมาะสมหรือไม่อย่างไรกับสภาวการณ์โดยทั่วๆ ไปขององค์กรในยุคปัจจุบัน

ประเด็นแรก หากมองในภาพรวมแล้ว ก.ต. ทุกชั้นศาลต้องมีภาระหน้าที่กับผู้พิพากษาทุกคนทุกชั้นศาลโดยไม่ได้แบ่งแยก ว่า ก.ต.ชั้นศาลใดก็มีหน้าที่เฉพาะชั้นศาลนั้นๆ เท่านั้น แต่ก็คงไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่าความรู้สึก ความเข้าใจของผู้ที่ได้รับเลือกมาจากชั้นศาลใดก็จะมุ่งเน้นให้ความสำคัญไป ที่ชั้นศาลที่เลือกตนมา ดังนั้น เมื่อพิจารณาจำนวนผู้พิพากษาศาลชั้นต้นทั่วประเทศ ซึ่งมีจำนวนกว่า 3,500 คน กับจำนวน ก.ต. 2 คน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับศาลสูงคือศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ ซึ่งมีจำนวนรวมกันประมาณ 600 คน กับจำนวน ก.ต. รวมกัน 10 คนแล้ว จะเห็นว่า ศาลชั้นต้นได้รับการดูแลจาก ก.ต. ประจำศาลของตนเฉลี่ยแล้วคือจำนวนผู้พิพากษา 1,750 คน ต่อ ก.ต.หนึ่งคน

หากเทียบกับศาลสูงแล้วจะมีเกณฑ์เฉลี่ยประมาณ 60 คนต่อ ก.ต.หนึ่งคน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่แตกต่างกันมาก อาจทำให้ ก.ต.ประจำศาลชั้นต้นต้องรับภาระในการดูแลผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศไม่ทั่วถึง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เมื่อเทียบตามสัดส่วนของประชากรผู้พิพากษาในแต่ละชั้นศาลแล้ว ศาลชั้นต้นจะต้องมี ก.ต.มากกว่าศาลสูงแต่ประการใด เนื่องจากวัฒนธรรมองค์กรของศาลได้ยึดหลักอาวุโสอยู่แล้ว

และดังที่กล่าวมาแล้วว่า ก.ต.ทุกคนย่อมไม่อาจปฏิเสธภาระหน้าที่ที่มีต่อผู้พิพากษาในแต่ละชั้นศาลได้ แม้จะมิใช่ชั้นศาลเดียวกันกับตนก็ตาม

อีกประการหนึ่งคือ ในแง่ของการถ่วงดุลซึ่งกันและกันของ ก.ต.ในแต่ละชั้นศาล โดยเฉพาะในการลงมติในที่ประชุม ก.ต. อย่างน้อยก็เพื่อป้องกันมิให้มีการครหาว่า ก.ต.บางส่วนถูกกลืนโดย ก.ต.จำนวนมาก ดังนั้น จำนวน ก.ต.ในแต่ละชั้นศาลจึงควรมีลักษณะสมดุลจึงจะทำให้เกิดประสิทธิภาพและมี ประสิทธิผล

ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่าควรเพิ่มจำนวน ก.ต.ในศาลชั้นต้นอีก อย่างน้อยก็เท่ากับที่รัฐธรรมนูญปี 2540 เคยกำหนดไว้ ส่วนปัญหาที่ว่าจะกลายเป็นระบบ "เด็กปกครองผู้ใหญ่" หรือไม่นั้น ก็อาจจะอธิบายได้ว่า ก.ต. เป็นองค์กรกลางในการบริหารงานบุคคล ผสมระหว่างรูปแบบคณะกรรมการ (Commission) กับรูปแบบผู้อำนวยการ (Directorate General) และเป็นองค์กรอิสระทั้งจากอำนาจอิทธิพลภายในและภายนอก อีกทั้งเป็นองค์กรเปิดที่สามารถตรวจสอบได้

ประเด็นนี้ก็อาจจะทำให้คลายความกังวลไปได้ในเรื่องว่าจะเป็นการบั่นทอนระบบอาวุโสหรือไม่ ซึ่งอาจจะต้องมีการศึกษาวิจัยต่อไป

ส่วนในประเด็นที่ผู้พิพากษาทุกคนควรมีสิทธิเลือก ก.ต. ได้ทุกชั้นศาลหรือไม่ ประเด็นนี้ ผู้เขียนเห็นว่าการให้ทุกคนมีสิทธิในการมีส่วนร่วม (participation) นั้นเป็นสิ่งที่ดี เพื่อว่าคนในองค์กรจะได้มีความผูกพัน (involvement) เพราะ ก.ต. เป็นองค์กรกลางที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลพิพากษาทุกคน ดังนั้น ผู้พิพากษาทุกคนจึงต้องเลือก ก.ต.ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยที่เรียกว่า Full Participation ซึ่งน้อยองค์กรนักที่จะมี และอีกเหตุผลหนึ่งคือ ผู้พิพากษาทุกคนควรมีสิทธิเลือกผู้ที่จะมาตรวจสอบตน เพื่อจะได้มีส่วนในการคัดกรองคุณสมบัติของผู้ที่จะมาตรวจสอบตน

ดังนั้น ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นจึงควรมีสิทธิเลือก ก.ต. ในชั้นศาลฎีกาหรือชั้นศาลอุทธรณ์ด้วย และหากพิจารณาว่าผู้พิพากษาจากศาลสูง ซึ่งหมายถึง ศาลฎีกา และศาลอุทธรณ์ นั้นมีจำนวน ก.ต. รวมกันเท่ากับ 10 คน เมื่อรวมกับประธานศาลฎีกา ซึ่งเป็น ก.ต. โดยตำแหน่งอีก 1 คน ก็จะเป็น 11 คน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่มากกว่าสองในสามของ ก.ต.ทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ก.ต.จากชั้นศาลดังกล่าวจะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบผู้พิพากษาศาลยุติธรรมทุกคน โดยเฉพาะศาลชั้นต้นที่มีจำนวนกว่า 3,500 คน คิดเป็นจำนวนมากกว่าสามในสี่ของผู้พิพากษาทั้งหมด ดังนั้น เพื่อความเป็นธรรมในการที่ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งจะต้องถูกตรวจสอบ โดย ก.ต.จากศาลสูงและเพื่อให้เกิดความถ่วงดุลซึ่งกันและกัน ก็ควรที่จะให้ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นได้มีโอกาสกลั่นกรองคุณสมบัติผู้ที่จะมา ตรวจสอบตนเองด้วยเช่นกัน

ในทำนองเดียวกันกับที่ผู้พิพากษาศาลสูงก็ควรมีสิทธิเลือก ก.ต. ที่มาจากศาลชั้นต้นด้วย กระนั้น ก็ตาม หากเกรงว่าจะเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่าศาลชั้นต้นเป็นผู้กำหนดตัว ก.ต. หรือเป็นเหตุให้กล่าวได้ว่า เสียวัฒนธรรมองค์กรเพราะอาจทำให้ผู้ใหญ่ต้องไปหาเสียงกับเด็กแล้ว ก็อาจจะแก้ปัญหานี้โดยกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ ซึ่งอาจจะให้ค่าน้ำหนักของแต่ละชั้นศาลแตกต่างกัน ภายใต้สมมติฐานที่ว่าผู้พิพากษาศาลสูงมีประสบการณ์สูงกว่าควรจะมีค่าน้ำหนัก ของคะแนนมากกว่าโดยมาจากฐานคิดที่ว่าจำนวน ผู้พิพากษาแต่ละชั้นศาลเป็น 100 เปอร์เซ็นต์เท่ากัน

ตัวอย่าง เช่น ผู้พิพากษาศาลฎีกา 1 คน อาจจะมีค่าน้ำหนักเท่ากับ 5 คะแนน ขณะที่ศาลอุทธรณ์และศาลชั้นต้น มีค่าน้ำหนักเท่ากับ 3 และ 1 คะแนน ตามลำดับแล้ว ดังนั้น เมื่อผู้พิพากษาศาลฎีกาเลือกผู้ใดเป็น ก.ต. ผู้นั้นจะได้ค่าน้ำหนักของคะแนนเท่ากับ 5 คูณกับจำนวนของผู้พิพากษาศาลฎีกาที่เลือกตนเอง เป็นต้น

เพราะฉะนั้น หากผู้ใดได้รับการเลือกจากผู้พิพากษาศาลฎีกาเป็นจำนวนมากก็สามารถประเมินได้ เช่นกันว่าผู้นั้นมีโอกาสสูงที่จะได้รับเลือกเป็น ก.ต. ทั้งนี้ จะอ้างว่าผู้พิพากษาต่างชั้นศาลกันจึงไม่มีข้อมูลมากพอที่จะรู้ว่าใครเป็น อย่างไรนั้น

ผู้เขียนเห็นว่า สังคมในองค์กรได้ยึดหลัก Social Control คือ คนในองค์กรควบคุมกันเองและสังคมผู้พิพากษาเป็นสังคมที่ควรจะต้องอยู่กัน อย่างฉันพี่น้อง เพื่อให้เกิดความรักสามัคคีและความเป็นเอกภาพ จึงไม่ใช่เรื่องเกินวิสัยที่จะหยั่งทราบได้ว่า ผู้ใดเป็นผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะมาทำหน้าที่เป็น ก.ต. อีกประการหนึ่งคือ เป็นเรื่องการให้เกียรติกันขององค์ประชุม ก.ต.ว่า ก.ต.ท่านใดอยู่ชั้นศาลใด ก็จะมีข้อมูลของผู้พิพากษาประจำชั้นศาลนั้นๆ อยู่แล้ว ซึ่ง ก.ต.ท่านอื่นอาจจะต้องรับฟัง โดยเฉพาะศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ ส่วนใหญ่ก็เคยเป็นครูอาจารย์หรือผู้บังคับบัญชาของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นมา ก่อน

อีกประการหนึ่ง คือจำนวนผู้พิพากษาใน ศาลสูงมีจำนวนน้อย หากมีการล็อบบี้ (Lobby) ให้เลือกเฉพาะกลุ่มหรือพรรคพวกของตน ก็อาจทำให้ไม่ได้พิจารณาคุณสมบัติของผู้ที่จะมาปฏิบัติหน้าที่ ก.ต. เท่าที่ควร เพราะเนื่องจากฐานของคนมีสิทธิเลือกตั้งจะแคบลงทำให้โอกาสที่จะเลือกกลุ่ม ของตนมีสูง ผู้เขียนเห็นว่าโดยหลักแล้ว การเลือก ก.ต.ต้องเลือกเพื่อให้เป็นตัวแทนของสถาบันทั้งระบบ ผู้เขียนจึงไม่เห็นด้วยหากจะเข้าใจว่าน่าจะทำนองเดียวกันกับการเลือกตั้ง ส.ส. ที่มีแนวคิดในเรื่องภูมิศาสตร์ของท้องที่ในแต่ละจังหวัด

ข้อสำคัญคือ การเลือกเฉพาะชั้นศาลของตนนั้นทำให้ผู้พิพากษาที่ได้รับเลือกเป็น ก.ต. มาจากศาลชั้นใด ก็จะมีความรู้สึกว่าตนไม่ได้เป็นตัวแทนของสถาบันทั้งระบบ แต่เป็นตัวแทนของผู้พิพากษาของชั้นศาลที่เลือกมาโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบ หรือสิทธิประโยชน์ของศาลอื่นที่ไม่ได้เป็นผู้เลือกตนมาเป็นเรื่องรอง

ดังนั้น ที่มาของ ก.ต. นอกเหนือจากประเด็นในเรื่องสัดส่วนของจำนวน ก.ต. ในแต่ละชั้นศาลแล้ว ประเด็นการเปิดโอกาสให้ผู้พิพากษาทุกคนได้เลือก ก.ต.ทุกชั้นศาล ซึ่งจะมาทำหน้าที่ตรวจสอบผู้พิพากษาศาลยุติธรรมต่างหากที่ศาลยุติธรรมควร ตระหนักว่าจะเป็นจุดแข็งของโครงสร้าง ก.ต. อย่างหนึ่งหรือไม่เพราะหากในการตรวจสอบโดย ก.ต.ที่ได้รับเลือกมาจากเฉพาะชั้นศาลใดชั้นศาลหนึ่ง ทำให้ผู้พิพากษาที่ถูกตรวจสอบไม่ได้รับความเป็นธรรม แล้วจะมีวิธีการใดที่จะเป็นการถ่วงดุลในระหว่าง ก.ต. ด้วยกันและในระหว่าง ก.ต. กับผู้พิพากษาทุกคนตามหลักดุลแห่งอำนาจคู่ขนานกันไปด้วย

ผู้เขียนขอฝากประเด็นในเรื่องที่มาของ ก.ต. ว่าผู้พิพากษาทุกชั้นศาลควรมีสิทธิเลือก ก.ต.ที่มาจากทุกชั้นศาลเช่นเดียวกับที่รัฐธรรมนูญปี 2540 ได้บัญญัติไว้ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกตรวจสอบโดยถ้วนหน้ากันว่าผู้ถูกตรวจสอบ ก็มีสิทธิกลั่นกรองผู้ที่จะมาตรวจสอบตนเองด้วยเช่นกัน เพื่อป้องกันไม่ให้มีการครหาว่า ก.ต. ประจำศาลชั้นใดก็ปกป้องผลประโยชน์เฉพาะแต่ในส่วนชั้นศาลของตน ซึ่งอาจทำให้มองได้ว่า ไม่ใช่ตัวแทนของผู้พิพากษาทั้งหมดในระบบภาพรวม นอกจากนี้ อีกประเด็นหนึ่งที่ขอฝากทิ้งท้ายคือ หาก ก.ต.กระทำการไม่ถูกต้องไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกระเบียบ การพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายหรือการพิจารณาลงโทษทางวินัยแล้ว ในภายภาคหน้าจะมีหน่วยงานอิสระหน่วยงานใดที่จะเข้าตรวจสอบการทำงานของ ก.ต.ได้แค่ไหน เพียงใด ซึ่งท่าน ศาสตราจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้เคยตั้งประเด็นนี้ไว้เช่นกันนับเป็นสิ่งที่ท้าทายต่อผู้ที่มีหน้าที่ เกี่ยวข้องเป็นอย่างยิ่ง เพียงแต่ต้องพิจารณากันอย่างรอบคอบและระมัดระวัง เพราะอาจจะกระทบต่อความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและสถาบันศาลยุติธรรมได้

อย่างไรก็ตาม หากผลจากการเลือกทำให้ได้ ก.ต.ที่ดี มีวิสัยทัศน์ มีความเข้มแข็งกล้าหาญก็จะส่งผลในการสร้างความเป็นธรรมให้ผู้พิพากษาไปทั้ง ระบบ ดังที่ท่านศาสตราจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร ก็เคยแสดงความคิดเห็นเปรียบเทียบให้เห็นถึงความสำคัญของ ก.ต.ไว้เช่นกันว่า "ก.ต.คือองค์กรของผู้พิพากษาที่ผู้พิพากษาจะเลือกตั้งผู้พิพากษาขึ้นมา พิพากษาผู้พิพากษาด้วยกันเอง" โดยเฉพาะในการบังคับใช้มาตรการต่างๆ เท่าที่มีอยู่นั้นระบบการตรวจสอบจากภายในองค์กรโดย ก.ต. สามารถนำมาบังคับใช้ในการตรวจสอบการใช้อำนาจหน้าที่ของผู้พิพากษาศาล ยุติธรรมได้อย่างเข้มงวดและจริงจัง และยังคงมีประสิทธิ ภาพคงเส้นคงวา

นอกจากนี้ ในประมวลจริยธรรมตุลาการที่มีการแก้ไขในปี 2552 ประกอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หมวด 13 ว่าด้วยจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ มาตรา 279 ก็จะเห็นได้ว่ามีสภาพบังคับ (SANCTION) ซึ่งมิใช่เป็นเพียงการแนะแนวว่าผู้พิพากษาที่ดีควรปฏิบัติหน้าที่ในทาง อรรถคดีอย่างไร และควรครองตนอย่างไรในสังคมเท่านั้น แต่หากมีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมแล้ว ให้ถือว่าเป็นการกระทำผิดทางวินัยและมีบทกำหนดโทษด้วย

จึงเห็นได้ว่าผู้พิพากษาศาลยุติธรรมทุกคนได้ถูกตรวจสอบโดยระบบตรวจสอบภายในองค์กรอย่างเข้มงวดเพื่อรักษาไว้ซึ่งมาตรฐานวิชาชีพตุลาการ

อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบโดย ก.ต.นั้นแม้จะสามารถกล่าวได้ว่ามีประสิทธิภาพเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะเมื่อ เปรียบเทียบกับระบบการตรวจสอบโดยองค์กรภายในขององค์กรอื่นๆ ก็ตามแต่องค์กร ก.ต. ก็มีฐานะเป็นเพียงองค์กรบริหารงานภายในเท่านั้น ซึ่งอาจจะมีเสียงครหาได้ว่าอาจจะช่วยเหลือกันเอง

ดังนั้น ด้วยเหตุผลดังที่ได้กล่าวมาแล้วจึงทำให้ผู้เขียนได้มาตั้งประเด็นถึงโครง สร้างของ ก.ต. ในปัจจุบันว่าเหมาะสมประการใดหรือไม่ เพราะโครงสร้าง ก.ต.ที่ดีก็จะเป็นหลักสำคัญที่จะทำให้ศาลยุติธรรมมีโอกาสได้ผู้ที่มีความ เหมาะสมมาเป็น ก.ต. เพราะ ก.ต.ต้องเป็นองค์กรกลางบริหารงานบุคคลที่มีความอิสระ มีจิตใจ และบุคลิกภาพที่เป็นกลาง เป็นที่ยอมรับของผู้พิพากษาส่วนใหญ่ ตลอดจนสามารถนำระบบคุณธรรม (Merit System) มาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อป้องกันการใช้ระบบอุปถัมภ์ (Spoils System) ดังที่เคยมีมาแล้วในอดีต

ข้อสำคัญต้องสามารถให้ความเป็นธรรมกับผู้พิพากษาทุกคนทุกชั้นศาลได้ เท่าเทียมกันสมดังเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ให้ความสำคัญถึงขั้นบัญญัติ เรื่องของ ก.ต.ไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย เพราะ ก.ต. เป็นเสมือนเกราะประกันความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ผู้พิพากษาและจะสามารถควบ คุมตรวจสอบในการพิจารณาพิพากษาคดีของผู้พิพากษาได้เป็นอย่างดี

เพื่อให้การปฏิบัติภารกิจหน้าที่ของผู้พิพากษาเป็นไปโดยชอบด้วย กฎหมายอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมสมดังคำกล่าวที่ว่า "ศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน" อย่างแท้จริง

หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 1 มีนาคม 2555 หน้า 6

0 comments :

Post a Comment